ขงจื้อ(孔子)ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในสิบนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ความคิดของเขามีอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ขงจื๊อ (551 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 479 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีชื่อว่า ชิว(丘) สมญานาม จ้งหนี(仲尼) มีชีวิตอยู่ปลายชุนชิว(春秋) เป็นชาวโจวอี้(陬邑) แคว้นหลู่(儒) (ปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของชวีฝู่(曲阜) มณฑลซานตง(山东)) เป็นผู้ให้กำเนิดลัทธิขงจื๊อ
ขงจื๊อเป็นนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ เขาได้เสนอหลัก “มนุษยธรรม(仁)” กล่าวคือต้องการให้ผู้ปกครองเข้าใจจิตใจประชาชน รักใคร่ประชาชน ไม่กดขี่ข่มเหงประชาชนนอกจากนั้นยังเสนอให้นำเอาหลักคุณธรรมมาปกครองประชาชน ต่อต้านทรราชย์(暴政)
ขงจื๊อยังเป็นนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่อีกด้วย ในสมัยนั้นมีแต่เพียงบรรดาชนชั้นสูงเท่านั้นที่ได้รับการศึกษา ขงจื๊อเสนอหลัก “การศึกษาไม่แบ่งชนชั้น(有教无类)” รับนักเรียนไม่ว่าสถานภาพจะสูงหรือต่ำ ล้วนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันทั้งหมด ขงจื๊อเปิดโรงเรียนส่วนตัว ทำลายการผูกขาดทางการศึกษาโดยขุนนาง กล่าวกันว่า ขงจื๊อสอนลูกศิษย์ทั้งสิ้นจำนวนสามพันกว่าคน ในจำนวนนี้มีคนที่มีชื่อเสียงจำนวน 72 คน ขงจื๊อยังเสนอหลัก “ปรับการสอนตามลักษณะวิสัยของผู้เรียน(因材施教)” กล่าวคือ ใช้วิธีการสอนที่แตกต่างกันไปตามลักษณะวิสัยของผู้เรียนที่ไม่เหมือนกัน ขงจื๊อสอนลูกศิษย์ให้ “ทบทวนของเก่า เรียนรู้ของใหม่(温故而知新)” (การเรียนจำเป็นต้องทบทวนของเก่าอยู่เสมอ) “รู้ก็บอกว่ารู้ ไม่รู้ก็บอกไม่รู้(知之为知之,不知为不知)” (ต้องมีท่าทีซื่อตรงในการเรียน)และยังสอนให้นำเอาการเรียนและการคิดผนวกเข้าด้วยกัน
ต่อมา บรรดาลูกศิษย์ของขงจื๊อได้บันทึกความคิด คำพูด และการกระทำของขงจื๊อเรียบเรียงเป็นตำรา “หลุนหยี่(论语)” ซึ่งถือเป็นตำราที่สำคัญเล่มหนึ่งของลัทธิขงจื๊อ คำสอนของขงจื๊อได้กลายเป็นหลักปกครองสำคัญในระบอบศักดินาของจีนมากว่า 2 พันปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น