สภาพโดยสังเขป
“สมัยก่อนราชวงศ์จิ๋น” หมายถึง ช่วงประวัติศาสตร์จีนอันยาวนานก่อนที่จิ๋นซีฮ่องเต้(秦始皇)จะรวมประเทศจีนเป็นหนึ่งเดียว
เมื่อประมาณ 1,700,000 ปีที่แล้ว บรรพบุรุษชาวจีนใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณ อำเภอหยวนโหมว(元谋县) มณฑลยูนนาน(云南) นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมบรรพกาล และเมื่อประมาณ 2,070 ปีก่อนคริสต์ศักราช ราชวงศ์แรกของจีน คือ “ราชวงศ์เซี่ย (夏朝)” ได้สถาปนาขึ้น มีระยะเวลาการปกครองยาวนานถึง 400 กว่าปี
ราชวงศ์ที่ 2 คือ “ราชวงศ์ซัง(商朝) หรือ อิน(殷朝)” (เนื่องจากในระยะแรกของราชวงศ์ซัง มีการย้ายเมืองหลวงบ่อย สุดท้ายย้ายไปที่อิน ปัจจุบันอยู่ที่เมืองอันหยาง(安阳) มณฑลเหอหนาน (河南)และปกครองอยู่อีกประมาณ 300 กว่าปี) ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ซังถือว่าเป็นประเทศใหญ่ประเทศหนึ่งในโลกในขณะนั้น มีระยะเวลาปกครองยาวนานถึง 500 กว่าปี มีมรดกและข้อมูลทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่ามากมายตกทอดมาสู่ปัจจุบัน เช่น อักษรบนกรดองเต่าและกระดูกสัตว์(甲骨文) เครื่องทองสัมฤทธิ์(青铜器) ฯลฯ
ราชวงศ์ที่ 3 คือ “ราชวงศ์โจวตะวันตก(西周)” เมืองหลวงอยู่ที่เมืองซีอาน(西安)ในปัจจุบัน แต่ต่อมาเมืองหลวงของราชวงศ์โจวตะวันตกถูกพวกชนกลุ่มน้อยรุกราน จึงย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองลั่วหยาง(洛阳)ในปัจจุบัน ซึ่งในทางประวัติศาสตร์นั้นเรียกว่า “ราชวงศ์โจวตะวันออก” ราชวงศ์โจวตะวันออก และราชวงศ์โจวตะวันตกรวมระยะเวลาการปกครองยาวนานประมาณ 800 ปี ราชวงศ์ตะวันออกยังแบ่งออกเป็นยุคชุนชิวจ้านกั๋ว(春秋战国) ในสมัยยุคชุนชิว ประเทศชาติได้แตกแยกออกเป็นแคว้นเล็ก ๆ จำนวนมากมาย เมื่อถึงยุคจ้านกั๋ว ได้กลายเป็นแคว้น 7 แคว้นซึ่งมีอำนาจเข้มแข็งแคว้นเหล่านี้เมื่อได้ผ่านการปฏิรูปแล้วก็ได้กลายเป็นสังคมศักดินา ซึ่งถือเป็นการสร้างพื้นฐานการปกครองให้แก่แคว้นจิ๋น ซึ่งได้รวมประเทศจีนเป็นหนึ่งเดียวในเวลาต่อมา
เมื่อมาเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์โลกแล้วจะเห็นว่า ในขณะที่อารยธรรมอียิปต์โบราณ(古埃及) อารยธรรมบาบิโลนโบราณ(古巴比伦) และอารยธรรมอินเดียโบราณ(古印度)กำลังพัฒนาก้าวหน้าขึ้นนั้น ประเทศจีนกำลังอยู่ในช่วงความเจริญทางอารยธรรมของราชวงศ์เซี่ย ราชวงศ์ซัง และราชวงศ์โจวตะวันตก ขณะที่อารยธรรมกรีก(欧洲希腊) โรมันของยุโรป(罗马城邦国家) กำลังรุ่งเรืองนั้น ก็ประจวบเหมาะเป็นยุคของความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและความคิดในยุคชุนชิว และยุคจ้านกั๋วของประเทศจีนพอดี ในช่วงที่อารยธรรมตะวันออกและอารยธรรมตะวันตกกำลังรุ่งเรืองพร้อมกัน ดินแดนแถบเมดิเตอร์เรเนียนและประเทศจีนก็ค่อย ๆ กลายเป็นศูนย์กลางทางอารยธรรมสำคัญ 2 แห่งของโลก
เหล่ามนุษยชาติที่เก่าแก่ที่สุดในเขตประเทศจีน
中国境内最早的人类
ประเทศจีนเป็นประเทศที่เก่าแก่และมีอารยธรรมมาช้านาน และถือได้ว่าเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดของมนุษยชาติ จวบจนปัจจุบันนี้ ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ดึกดำบรรพ์ยุคหินเก่าและโบราณสถานแหล่งวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก ที่สำคัญคือมนุษย์หยวนโหมว มนุษย์หลานเถียน มนุษย์ปักกิ่ง และมนุษย์ถ้ำภูเขา ฯลฯ
ในเดือนธันวาคมของปี ค.ศ.1987 สถานที่ที่อยู่ของมนุษย์วานรปักกิ่งที่โจวโข่วเตี้ยน ซึ่งได้ค้นพบกะโหลกศีรษะมนุษย์ปักกิ่งนั้น ได้ถูกบันทึกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมขององค์กรยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ(世界文化遗产名录)
เหล่ามนุษยชาติที่เก่าแก่ที่สุดในเขตประเทศจีน 1. มนุษย์หยวนโหมว 元谋人 (ประมาณ 1.7ล้านปีมาแล้ว) ปีค.ศ. 1965 ได้ขุดค้นพบฟัน 2 ซี่ของมนุษย์หยวนโหม่ว(ตั้งชื่อตามเมืองที่ค้นพบ) ที่เมืองหยวนโหม่ว มณฑลยูนนาน ปัจจุบันถือเป็นมนุษย์ยืนตัวตรงที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งถูกค้นพบที่ประเทศจีน 2. มนุษย์หลานเถียน 蓝田人 (ประมาณ 1.5ล้านปีมาแล้ว) ปี ค.ศ. 1963 ได้พบมนุษย์หลานเถียน ที่มณฑลส่านซี ห่างจากเมืองหลวงซีอันไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 60 กิโลเมตรโดยมนุษย์หลานเถียนมีหัวกะโหลกหนาและขากรรไกรยื่นออกมามากกว่ามนุษย์ปักกิ่ง หัวกะโหลกของมนุษย์หลานเถียนสามารถบรรจุสมองได้ประมาณ 780 ซีซี เป็นมนุษย์ที่สามารถเดินตัวตรงได้อย่างสมบูรณ์ มนุษย์หลานเถียน 蓝田人 3. มนุษย์ปักกิ่ง 北京人 (ประมาณ 7-2 แสนปีมาแล้ว) ปีค.ศ. 1929 ได้พบซากมนุษย์ปักกิ่ง ในถ้ำเขาหลงกุซาน หมู่บ้านโข่วเตี้ยน ห่างจากกรุงปักกิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ไปประมาณ 45 กิโลเมตร การค้นพบครั้งต่อๆมา ก็ได้ค้นพบซากมนุษย์ปักกิ่งอีกจำนวนมาก ทั้งชายและหญิง โดยเพศชายจะมีส่วนสูงประมาณ 1.558เมตร เพศหญิงจะมีส่วนสูงประมาณ 1.435 เมตร ใบหน้าสั้น ปากยื่นและคางหุบเข้า หน้าผากลาดต่ำ หัวกะโหลกหนา หัวกะโหลกของมนุษย์ปักกิ่งสามารถบรรจุสมองได้ประมาณ 1,057 ซีซี มนุษย์ปักกิ่งสามารถเดินและวิ่งตรงได้แล้วแต่หลังค่อม อาศัยอยู่กันเป็นหมู่เหล่าในถ้ำ สามารถใช้ไฟ ผลิตและใช้เครื่องหินได้ มนุษย์ปักกิ่ง 北京人 4. มนุษย์ต้าลี่ 大荔人 (ประมาณ 3-2 แสนปีมาแล้ว) เป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงจากมนุษย์วานรมาเป็นมนุษย์โบราณ มนุษย์ต้าลี่ 大荔人 5. มนุษย์ถ้ำภูเขา 山顶洞人 (ประมาณ 18,000 ปีมาแล้ว) กะโหลกศีรษะบรรจุสมองได้ประมาณ 1,300-1,500 หน้าผากสูงขึ้น กะโหลกศีรษะบางลง กระดูกสันคิ้วบางและลาดกว่ามนุษย์ปักกิ่ง ฟันซี่เล็กลง ปากไม่ยื่นออกมามากเท่ามนุษย์ปักกิ่ง ขากรรไกรล่างกับกระดูกตรงสันจมูกสูงเหมือนมนุษย์ในปัจจุบัน เครื่องมือเครื่องใช้ก็ประณีต เช่น เข็มหิน ที่สันนิฐานกันว่าสามารถใช้เย็บหนังสัตว์ได้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับต่างๆที่ทำมาจากหินที่มีลักษณะคล้ายลูกปัด มนุษย์ถ้ำตอนบนหาเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์และหาปลามาเป็นอาหาร บริเวณถ้ำที่พบมนุษย์ถ้ำตอนบนนั้น ถ้ำมีลักษณะที่แบ่งได้เป็น 2 ชั้น คือชั้นบนกับชั้นล่าง โดยชั้นบนใช้เป็นที่อาศัย ชั้นล่างใช้เป็นที่ฝังศพ รอบๆศพได้พบเครื่องมือเครื่องใช้โดยรอบ แสดงว่ามนุษย์ถ้ำตอนบน มีความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย จึงต้องนำของใช้ให้ผู้ตายติดตัวไปด้วย รูปร่างหน้าตาคล้ายกับคนในยุคปัจจุบัน ถ้าหากให้พวกเค้าสวมเสื้อผ้า และเครื่องประดับของคนในยุคปัจจุบัน และมายืนอยู่กับพวกเราด้วยกัน ไม่ว่าใครก็จะไม่มองพวกเขาด้วยสายตาแปลกประหลาดอย่างแน่นอน |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น